อุทยานกล้วยไม้ป่าช้างกระ วัดป่ามัญจาคีรี อยู่บนถนนสายมัญจาคีรี-ชนบท ห่างจากตัวอำเภอมัญจาคีรี 1 กิโลเมตร หรือห่างจากขอนแก่นประมาณ 57 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นเนินดินขนาดใหญ่กลางทุ่ง มีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ บริเวณวัดมีต้นไม้เก่าแก่จำนวนมากที่มีอายุหลายร้อยปี โดยเฉพาะต้นมะขาม และยังมีต้นตะโก กระถินป่า รวมประมาณ 280 ต้น มีกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระเกาะอยู่ตามกิ่งไม้และเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 4,000 ต้น กล้วยไม้เหล่านี้จะเริ่มออกช่อในราวเดือนธันวาคมและดอกสีชมพูขาวจะชูช่อบานเต็มที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไปทั่วบริเวณ ประวัติวัดป่ามัญจาคีรี เดิมเรียกว่าวัดป่าโนนบ้านเค้า มีอายุประมาณ 500-700 ปี สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1800- พ.ศ. 2300 โดยเจ้านางจอมจูมและบริวารซึ่งเดินทางมาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณเนินดินกว้างใหญ่ มีนามว่าโนนบ้านเค้า อันร่มรื่นด้วยต้นมะขามใหญ่ที่มีกล้วยไม้ป่าเกาะอยู่ตามกิ่ง รอบโนนบ้านเค้ามีหนองน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เจ้านางจอมจูม ได้สร้างสถูปหินทรายไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2335 กวนเมืองแสนได้พาผู้คนจากเมืองสุวรรณภูมิมาตั้งเมืองชลบท (ชนบท) ขึ้นตรงกับมณฑลนครราชสีมา ขยายอาณาเขตมายังชุมชนโนนบ้านเค้า ได้นำต้นจำปา (ลีลาวดี) มาปลูกที่วัดแห่งนี้ด้วย ปัจจุบันยังเหลือไว้เป็นหลักฐาน พ.ศ. 2424 พระเกษตรวัฒนาได้อพยพผู้คนจากบ้านเมืองมาสมทบกับชุมชนโนนบ้านเค้า แล้วยกฐานะเป็นเมืองมัญจาคีรี ขึ้นกับมณฑลอุดร เนื่องจากภูมิประเทศไม่เหมาะสม ประกอบกับเกิดโรคระบาด จึงอพยพผู้คนไปตั้งเมืองใหม่ที่ดอนเหมือดแอ่ ทิศตะวันตกของบึงกุดเค้า อันเป็นที่ตั้งของเมืองมัญจาคีรีในปัจจุบัน โนนบ้านเค้าจึงเป็นเมืองร้างถึง 40 ปี ต่อมาหลวงปู่เขียวได้ธุดงค์มาพบ จึงได้บูรณะและสร้างศาสนสถานคือสิมกลางน้ำ บริเวณหนองบัวน้อย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโนนบ้านเค้า ปัจจุบันถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง การเดินทาง จากถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอชนบท ตามทางหลวงหมายเลข 229 (ชนบท-มัญจาคีรี) ทางเข้าวัดอยู่ซ้ายมือ ก่อนเข้าตัวเมืองมัญจาคีรี 1 กิโลเมตร ระยะทางจากถนนมิตรภาพประมาณ 35 กิโลเมตร จากขอนแก่นใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 2731 (ขอนแก่น-พระยืน) ต่อเข้าถนนหมายเลข 2092 (พระยืน-มัญจาคีรี) ระยะทางจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 57 กิโลเมตร Blog ท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่นเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบยั่งยืนผ่านเส้นทางผ้า ที่กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโขสัมผัสวิถีชีวิตพื้นบ้านผ่านศิลปะแห่งความศรัทธา “ฮูปแต้ม สิมอีสาน”ร้านขนม & Cafe ใน จ.ขอนแก่น