



เมืองโบราณโนนเมือง อยู่ในเขตบ้านนาโพธิ์ เล่าสืบต่อกันมาว่าที่เนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองโบราณ ลักษณะเป็นเนินดินรูปไข่ มีพื้นที่ประมาณ 170 ไร่ ล้อมรอบด้วยคูเมือง 2 ชั้น เมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสํารวจพบใบเสมาหินทรายศิลปะทวาราวดีปักอยู่ในเมือง และพื้นที่โดยรอบมีเศษภาชนะดินเผาชิ้นไม่ใหญ่นักกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนเนินดิน เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดงชนิดลายขูดขีดและลายเชือกทาบในชั้นดินสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) ไม่พบหลักฐานของการฝังศพ สันนิษฐานว่าเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่มาสู่โนนเมือง ประเพณีการฝังศพจึงเปลี่ยนไป ยิ่งขุดชั้นดินลึกลงไปยิ่งพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เมืองโบราณแห่งนี้เคยมีชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ตอนปลาย) พบโครงกระดูกมนุษย์อายุราว 2,500 ปีผู้คนสมัยนี้มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ มีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมศพด้วย เช่น หม้อและภาชนะดินเผา มีทั้งลายเขียนสีลายขูดขีดและลายเชือกทาบ รวมทั้งกําไลสัมฤทธิ์กําไลกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ลูกปัดหินสี ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบเครื่องมือเหล็กประเภทจอบ เคียวและกระดูกของสัตว์ต่าง ๆ เช่น เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด ทําให้ทราบว่าผู้คนที่นี่ดํารงชีวิตด้วยการทําเกษตรกรรม มีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมาจนถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16-17) และทิ้งร้างไปในที่สุด การเดินทาง จากอําเภอเมืองขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 จนถึงสี่แยกเทศบาลเมืองชุมแพ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 จนพบสี่แยกใหญ่ ให้เลี้ยวขวาผ่านตลาด จากนั้นเลี้ยวซ้ายและตรงไป ผ่านโรงเรียนชุมชนชุมแพ และตรงเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบทางเข้าเมืองโบราณโนนเมืองอยู่ริมถนนทางซ้ายมือระยะทางจากอําเภอเมืองขอนแก่น 85 กิโลเมตร