17 พ.ค. 65 วันความดันโลหิตสูงโลก หมอแนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจวัดความดัน ลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรค และมุ่งเน้นให้ประชาชนหมั่นตรวจวัดค่าความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงต่อภาวะโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง 7.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลกในประเทศไทยโรคความดันโลหิตสูงยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญเช่นกัน โดยจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พบความชุกของความดันโลหิตสูง ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 24.7 ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.4 ในปี 2563 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด) มีอัตราชุกความดันโลหิตสูง ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เท่ากับ 9,830, 10,552.4, 11,699, 12,441 และ 13,101 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
โรคความดันโลหิตสูงถือเป็น “ฆาตรกรเงียบ” เนื่องจากโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือน หรืออาการแสดงที่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรค หากปล่อยให้ตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดแดงในตาเสื่อม และ ไตวาย ส่งผลให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีการรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง (เช่น ปลาร้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น) ไม่รับประทานผักและผลไม้ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ประกอบกับอายุที่มากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมและปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น
นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมและป้องกันได้ ด้วยการลดรับประทานอาหารที่มีโซเดิมสูง เช่นปลาร้า อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น ควรเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้(รสหวานน้อย) เช่น พืชตระกูลถั่ว ฝรั่ง กล้วย ส้ม แตงโม เป็นต้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเบาๆไปจนถึงกิจกรรมปานกลาง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ลดละเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ลดละเลิกการสูบบุหรี่ และ ที่สำคัญควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับผู้ที่ป่วยโรคนี้อยู่แล้วต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตลอดจนวัดความดันโลหิตเป็นประจำ พร้อมจดบันทึกค่าความดันโลหิตของตนเอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
*******************************************************
ข้อมูล : กลุ่มโรคไม่ติดต่อ สคร.7 จ.ขอนแก่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 16 พฤษภาคม 2565