ขอนแก่น-กองระบาดวิทยา เผยปี 2565 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดมีพิษแล้ว 81 ราย เตือนหน้าฝนเก็บเห็ดป่าประกอบอาหารต้องตรวจสอบให้รอบคอบ เห็ดกินได้กับเห็ดมีพิษมีความคล้ายกันมากในระยะดอกตูมและควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดร่วมกับสุรา ฤทธิ์จากแอลกอฮอล์ทำให้พิษแพร่กระจายเร็วและมีอาการรุนแรงมากขึ้น
จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดมีพิษในปี 2565 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดมีพิษแล้ว จำนวน 81 ราย ซึ่งในรายล่าสุดนั้นกินเห็ดพิษที่คล้ายกับเห็ดโคน โดยเฉพาะช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้น ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ มีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดที่มีพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดที่มีพิษมาปรุงประกอบอาหาร
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่ามีความห่วงใยต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานเห็ดป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่สามารถนำมากินได้ และเห็ดที่มีพิษ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมากในขณะที่ยังเป็ดดอกตูม เช่น เห็นไข่ห่านเหลือง และเห็ดไข่ห่านขาว เห็ดทั้งสองชนิดขณะเป็นดอกตูม ลักษณะจะเหมือนเห็ดระโงกหินทั้งขนาด สี ก็ยังเหมือนกันอีกด้วย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารรวมกับเห็ดชนิดอื่น
โดยเฉพาะเห็ดที่ยังเป็นดอกตูม จะแยกชนิดของเห็ดได้ยากว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือเห็ดที่สามารถกินได้ ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเห็ดที่มีลักษณะดอกตูมที่ขึ้นตามธรรมชาติ ถึงแม้จะมีเพียงดอกเดียวก็ตาม
สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ 1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน
เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน เห็ดระโงกพิษ มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นในแต่ละภาค ภาคเหนือเรียกเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง ภาคอีสานเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก เห็ดระโงกตีนตัน ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงกันมากกับเห็ดที่กินได้ โดยเฉพาะเห็ดดอกอ่อนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ที่ดอกยังบานไม่เต็มที่
2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ จุดสังเกตคือ ดอกนิ่มและบาง ก้านนิ่มด้านในกลวงตลอดก้าน