เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น – สวนสัตว์ขอนแก่นเพิ่มความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวปลอดภัยจากการติดเชื้อจากสัตว์ขณะเที่ยวชม พัฒนายกระดับเป็นสวนสัตว์ต้นแบบปลอดปรสิตลดการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่าและป้องกันพยาธิจากสัตว์สู่คน
นายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น เปิดเผยว่า ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพ สวนสัตว์ขอนแก่นได้ศึกษาวิจัย จัดทำโครงการเรื่อง การพัฒนาต้นแบบสวนสัตว์ปลอดปรสิต เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่า ด้วยระบบการจัดการที่ยั่งยืน และมีวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งเน้นนำสวนสัตว์ของประเทศไทยให้เป็นสวนสัตว์ปลอดพยาธิ ซึ่งในการจัดการดูแลด้านสุขภาพสัตว์ของสวนสัตว์ภายใต้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย จะเน้นการป้องกันโรคทั้งในระดับรายตัว และทั้งฝูงเป็นประจำทุกปี สำหรับแผนป้องกันโรคประกอบด้วย การกักสัตว์นำเข้า การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การชันสูตรซากสัตว์ รวมทั้งแผนป้องกันสัตว์รบกวน
ในการตรวจสุขภาพสัตว์เบื้องต้นนั้น จะมีการตรวจหาพยาธิที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ครอบคลุมปรสิตที่ก่อโรคและที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญได้ทุกชนิด รวมถึงพยาธิบางชนิดสามารถติดระหว่างสัตว์กับมนุษย์ได้ (zoonotic parasites) การเกิดโรคปรสิตทั้งจากโปรโตซัว หนอนพยาธิ และโรคติดเชื้อที่มีพยาธิเป็นพาหะนำโรคจะทำให้สัตว์เจริญเติบโตช้า มีผลต่อการดำรงชีวิตจนนำไปสู่การเสียชีวิตเกิดการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่า และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าได้เช่นเดียวกัน
จากปัญหาดังกล่าว น.สพ.ชวิน ไชยสงคราม หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการทำวิจัยเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดต้นแบบสวนสัตว์ปลอดพยาธิ ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดการเพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่า โดยศึกษาการติดเชื้อพยาธิภายในและเชื้อพยาธิภายนอก ตลอดไปจนถึงการศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ประสิทธิภาพและสถานการณ์การดื้อยา และพัฒนาเทคนิคการตรวจที่มีความไวต่อการตรวจหาพยาธิ ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย จำนวน 4 โครงการย่อย
ประกอบด้วย โรคติดเชื้อโปรโตซัวของสัตว์วงศ์ Felidae เพื่อการจัดการด้านสุขภาพในสวนสัตว์ การติดเชื้อและความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของหนอนพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารของสัตว์ตระกูลไพรเมต ความหลากหลายของเห็บและสถานการณ์ดื้อต่อสารเคมีกำจัดเห็บในเห็บของสัตว์วงศ์ Cervidae สัณฐานวิทยาและอณูวิทยาเพื่อการจำแนกชนิดพยาธิในทางเดินอาหารและประสิทธิภาพของยาถ่ายพยาธิในช้างเอเชีย
น.สพ.ชวิน ไชยสงคราม หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ ระบุว่า สัตว์ที่มีโอกาสติดพยาธิจะใช้การสังเกตเบื้องต้น เช่น สัตว์ที่มีลักษณะผอม จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจหาโรคพยาธิ ด้วยการนำมูลสัตว์เข้าห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาพยาธิ และทำการรักษาจากทีมงานสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์เพื่อตัดวงจรพยาธิ และจะต้องได้รับการยืนยันจากผลการตรวจอย่างชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นพยาธิชนิดใดและจัดยารักษาให้เหมาะสมกับชนิดของพยาธิ เนื่องจากบางชนิดมีโอกาสติดได้ทั้งคนและสัตว์ การตัดวงจรพยาธิจะทำให้ป้องกันได้ทั้งคนเลี้ยงและสุขภาพของสัตว์ ดังนั้นสัตว์ทุกชนิดจึงมีโอกาสติดพยาธิได้ ซึ่งจะถูกนำพามาจากสิ่งแวดล้อม เช่น หญ้า อาหาร
ทั้งนี้ อาหารจำพวกหญ้าจะมีโอกาสนำพาพยาธิมาสู่สัตว์มากที่สุด และสัตว์ที่มีโอกาสสูงที่จะติดพยาธิ คือ สัตว์กินพืช ได้แก่ แรด ช้าง และกวางเนื่องจากสวนสัตว์ขอนแก่นมีกวางมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยการตรวจสุขภาพประจำปีและการถ่ายพยาธิ 2 ครั้งต่อปีหมุนเวียนตามโปรแกรมที่ทางสัตวแพทย์จัดไว้
พยาธิอีกก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาอีกครั้งโดยการให้ยา การเก็บตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันว่าสัตว์นั้นปลอดจากพยาธิแล้ว
สำหรับวิธีการรักษาสัตว์หากพบตัวไข่พยาธิจากผลการตรวจสอบห้องปฏิบัติการแล้ว ทีมสัตวแพทย์จะเข้าไปทำการรักษาด้วยการถ่ายพยาธิ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิว่าชนิดใดมีการตอบสนองมากกว่ากัน มีทั้งการรักษาแบบให้ยา และการฉีดยารักษา ไม่เพียงเท่านี้ ขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ปลอดพยาธิแล้วจะทำการเก็บมูลสัตว์มาทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง
หากยังพบพยาธิอีกก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาอีกครั้งโดยการให้ยา การเก็บตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันว่าสัตว์นั้นปลอดจากพยาธิแล้ว