วันจันทร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag :
ที่แปลงสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ฤดูฝน) ปี 2565 ของนางสุวิมล จันทร์เพ็ง เกษตรกรชาวบ้านจระเข้ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายกฤษฎา บุญราชประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดําริ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่การดำเนินโครงการต้นแบบการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังฤดูทํานาปี 2565 พร้อมร่วมกิจกรรมการสาธิตการหยอดเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมี นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายชินกร แก่นคง นายอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ว่าที่ ร.ต.บุญวัฒน์ สุริยะวงษ์ เกษตรจังหวัดขอนแก่น ดร.สุพัฒน์ ทองแก้ว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกรชาวอำเภออุบลรัตน์ และอำเภอใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรม
นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดําริ กล่าวว่า จากกรณีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก จากปัญหาการขาดแคลนพืช อาหารและวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ปิดทองหลังพระฯ จึงร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคเอกชนธุรกิจการเกษตร ผุดไอเดียสร้างโมเดลทำเกษตรรูปแบบใหม่ ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบ 3 ประโยชน์ คือ แก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพ และสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในสถานการณ์ที่ตลาดกำลังมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปริมาณสูง และมีแนวโน้มที่ราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ในการพัฒนาวิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลผลิตที่ดี ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ปิดทองหลังพระฯ จึงได้จัดทำโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ 3 จังหวัด คือ อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ การปลูกแบ่งเป็น 2 ช่วงคือต้นฝน และหลังนา ซึ่งหลังนาจะรณรงค์เชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการนี้ มีการคาดการณ์รายได้ขั้นต่ำ โดยประเมินจากปริมาณผลผลิตที่จะได้ไม่น้อยกว่า 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ ราคารับซื้อเมล็ดข้าวโพดความชื้นไม่เกินร้อยละ 27 ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8.50 บาท หรือตามราคาตลาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ขั้นต่ำ 11,050 บาทต่อไร่ ที่สำคัญหากเกษตรกรที่ยืมปัจจัยการผลิต ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วเงินที่ได้รับจากการขายผลผลิตยังไม่เพียงพอชำระค่าปัจจัยการผลิตฯ จะมีคณะทำงานตรวจประเมินการยกเว้นการชำระค่าปัจจัยการผลิตให้ และไม่มีดอกเบี้ยการยืมปัจจัยการผลิต สำหรับราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน อยู่ที่กิโลกรัมละ 13 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้ว คาดว่าเกษตรกรจะมีกำไรไม่ต่ำกว่าไร่ละ 3,000-4,000 บาท ซึ่งนอกจากจะดีกว่าการปลูกข้าวแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบให้กับประเทศอีกด้วย โดยคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ คือ ควรมีการรวมกลุ่มกันให้มีขนาดพื้นที่ 100 ไร่ขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแปลงติดกัน มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก คือ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรและสมัครเข้าร่วมโครงการกับเกษตรอำเภอ และพื้นที่ปลูกต้องมีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย โดยข้อตกลงนี้จะครอบคลุมตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ตลาด ปริมาณ คุณภาพ ราคาและจุดรับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด นอกจากจะลงทุนปัจจัยและอุปกรณ์การผลิตให้ทั้งหมดแล้ว หากเกษตรกรขาดทุน ทางบริษัทจะรับผิดชอบเองทั้งหมด ที่กล้ารับประกันเช่นนี้ เพราะบริษัทฯ มีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน และขอเชิญชวนภาคเอกชนอื่นๆ ที่สนใจต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ก็สามารถเข้าร่วมในโครงการนี้ได้
ด้าน ดร.สุพัฒน์ ทองแก้ว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพสูง ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เช่น โดรนพ่นยา เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องหยอดปุ๋ย และการสนับสนุนสินเชื่อปัจจัยการผลิตแบบไม่มีดอกเบี้ย โดยจะหักค่าปัจจัยการผลิตคืนเมื่อเกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายที่จุดรับซื้อที่จะตั้งขึ้นใกล้พื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด นอกจากนี้ ระหว่างการปลูกจะมีนักวิชาการของบริษัท เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่มาให้ความรู้และแนะนำตลอดกระบวนการปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
ขณะที่นางสุวิมล จันทร์เพ็ง เกษตรกรชาวบ้านจระเข้ฯ และเจ้าของแปลงสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เดิมพื้นที่ 2 ไร่ บริเวณแปลงสาธิตฯ นี้ เคยเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง จนกระทั่งมีหน่วยงาน ได้เข้ามาสอบถามว่า ต้องการเข้าร่วมโครงการฯไหม โดยยื่นข้อเสนอว่า จะลงทุนในเรื่องต้นทุนการเพาะปลูกให้ก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกร สิ่งที่ทำให้ตนเองเริ่มสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ฯ คือ การที่มีทีมงานของปิดทองหลังพระฯ และภาคีเครือข่าย เข้ามาให้คำแนะนำและช่วยเหลือตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก ไปจนถึงการจำหน่ายที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ใกล้บ้าน ทำให้รู้สึกว่าทางหน่วยงานไม่ได้ปล่อยให้เราทำเองเพียงลำพัง แต่มีการมาดูแลเอาใจใส่ในทุกขั้นตอน จึงทำให้เกิดความมั่นใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ