เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น – มหาวิทยาลัยขอนแก่นผลิตได้ ชุด “PAPR” อุปกรณ์ป้องกันติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ ชี้ประโยชน์ช่วยสนับสนุนการทำงานรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 จ.ขอนแก่น
วันนี้ (28 เม.ย.) ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มข. พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ โซ่เงิน อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. ร่วมทดสอบอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ หรือพีเอพีอาร์ (PAPR)
อุปกรณ์ดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มข.ได้วิจัยและประดิษฐ์ขึ้นชุดแรก จำนวน 10 ชุด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้งานสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น แห่งที่ 1 (หอพัก 26 มข.) อยู่ในขณะนี้
รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวว่า การปฏิบัติงานในปัจจุบันของบุคลากรทางการแพทย์นั้น ชุดพีพีอีเป็นชุดที่สามารถกรองเชื้อได้ แต่ลักษณะการกรองอากาศให้แก่ผู้สวมใส่นั้นจะต้องสวมใส่หน้ากาก N95 เพิ่มเข้าไปด้วย ทำให้มีความลำบากที่จะหายใจ ทีมงานวิจัยร่วมระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มข.จึงร่วมกันวิจัยและผลิตชุดดังกล่าวขึ้นมา จัดเป็นชุดที่จ่ายอากาศบริสุทธิ์ สามารถกรองเชื้อไวรัสได้มากกว่า 96%
ในลักษณะของหมวกแรงดันบวก โดยผ้าที่ใช้ต้องเป็นผ้าร่มกันน้ำกันลม เพื่อให้ภายในสามารถจ่ายลมแรงดันบวกจากด้านหลัง และออกแบบท่อให้นำอากาศมาด้านหน้าเพื่อความสะดวกในการหายใจ และยังมีฟิลเตอร์ที่สามารถกรองไวรัสได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในห้องที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์หรือในห้องติดเชื้อ ผู้ที่สวมใส่จะหายใจได้สะดวกกว่าโดยไม่ต้องใส่หน้ากาก N95 โดยสามารถสวมหน้ากากที่ใช้ในทางการแพทย์แบบปกติได้
ขณะที่ นพ.อภิชาติ โซ่เงิน อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า กรณีที่มีโรคระบาดที่เราไม่มั่นใจว่าจะแพร่กระจายทางระบบทางเดินหายใจ ทุกครั้งที่มีโรคอุบัติใหม่จะต้องคิดเสมอว่าน่าจะเป็นโรคที่แพร่กระจายทางเดินหายใจ ดังนั้น ผลงานวิจัยที่ร่วมกันคิดค้นขึ้นชุดนี้จึงมีความสำคัญทุกครั้งที่มีโรคระบาดที่เกิดขึ้นในยุคที่เจอมา ไม่ว่าจะเป็น H5n1, H1n1, ซาร์ส จนกระทั่งมาถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยเฉลี่ย 10 ปีจะเจอโรคแบบนี้สักครั้ง ซึ่งชุด PAPR จะมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นชุดที่ปลอดภัยสูงสุดทำให้ดูแลคนไข้ได้มากกว่าชุดพีพีอีโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรกลุ่มอื่นที่จำเป็นต้องอยู่ในห้องผู้ป่วยมีการหายใจ เช่น เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่เข้าไปเอกซเรย์ปอดคนไข้ หรือแม้กระทั่งแม่บ้านที่เข้าไปเก็บขยะหรือของเสียออกมาจากห้อง ถ้ามีชุดพอและเหมาะสมกับทุกฝ่ายที่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลคนไข้ในห้องที่มีท่อช่วยหายใจกับผู้ป่วยแยกโรคดังกล่าว