มข.ตั้ง รพ.สนามแห่งแรกในจังหวัด รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่
ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้ามาตรวจความพร้อมหอพักที่ 26 มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 แห่งแรกของ จ.ขอนแก่น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.พร้อมผู้บริหาร ต้อนรับ ว่า หอพักที่ 26 ที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ของ จ.ขอนแก่น ถือเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีความพร้อมในทุกประการ ซึ่งในหลักคิดของการจัดการผู้ป่วยโควิด-19 คือการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วย บริหารทรัพยากรพื้นที่ โดยสำนึกว่าทรัพยากรต่างๆ นั้น เกิดมามาจากภาษีอากรของประชาชน จึงต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุดเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด
“วันนี้โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะเป็นความภาคภูมิใจของความร่วมมือในทุกภาคส่วน ในการดูแล ช่วยแบ่งเบาลดภาระโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งหมด หวังว่าคณาจารย์ บุคลากร น้องๆ นิสิต นักศึกษา จะเข้าใจการที่เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ในสังคมที่มีการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ของโรคโควิด-19 ที่สำคัญคือจะช่วยกันบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุน ในการบริหารจัดการโรคให้ลุล่วง และบรรลุวัตถุประสงค์ของทางราชการ” ผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าว
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า มข.ร่วมมือกับผู้ว่าฯ ขอนแก่น สาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ได้สนับสนุนโรงพยาบาลสนาม โดยนำหอพักที่ 26 ที่ปรับปรุงใหม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่จัดนักศึกษาเข้าพัก เป็นโรงพยาบาลสนามมีมาตรฐาน ตามมาตรฐาน สธ.โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ดำเนินการตามมาตรฐานของกระทรวงให้มีความปลอดภัย กำหนดพื้นที่ วางระบบกำจัดของเสียต่างๆ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ขอให้นักศึกษา และบุคลากรมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบในด้านความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นหอพัก หรือบุคลากร นักศึกษาที่อยู่พื้นที่อื่นๆ ด้วยมาตรฐานดังกล่าว โรงพยาบาลสนามที่เปิดมาแล้วทั่วโลก หรือในไทย ยังไม่พบว่ามีรายงานว่ามีประชาชนติดเชื้อโควิด-19 จากโรงพยาบาลสนามแห่งใดเลย
ด้าน รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มข.ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม 1 (หอ26) กล่าวว่า สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน มีการกระจายตัวไปเป็นอย่างมาก ประกอบกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำเป็นต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลนานอย่างน้อย 14 วัน หรือมากกว่านั้น เพื่อไม่ให้มีโอกาสแพร่เชื้อ จำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนสะสมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ใช้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลักต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคอื่นๆ ทำให้ต้องลดการให้บริการ หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่สามารถเข้ารับบริการได้ ซึ่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการหนัก ที่ต้องอยู่ในห้องความดันลบ กลุ่มที่สอง มีอาการรุนแรงปานกลาง ต้องให้ออกซิเจน กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มซึ่งไม่มีอาการใดๆ เลย หรือมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอเล็กน้อย ฉะนั้น โรงพยาบาลสนามจึงมีความสำคัญในการผ่องถ่ายคนไข้จากโรงพยาบาลหลักออกมาสู่โรงพยาบาลสนาม
รศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า หลักการของโรงพยาบาลสนามคือ มีบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าเป็นแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ทั่วไป พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร หรือเรียกว่ายกโรงพยาบาล พร้อมทั้งมาตรฐานของโรงพยาบาลเพื่อควบคุมภาวะปลอดเชื้อต่างๆ หรือการกำจัดขยะ หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ยกมาไว้ที่โรงพยาบาลสนามทั้งหมด ฉะนั้น ขอให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลสนามจะมีความปลอดภัยทั้งกับผู้ป่วยเอง ซึ่งได้รับการรักษามาเป็นอย่างดีแล้ว และคนที่อยู่รอบข้างของโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด จัดทางเดินเข้าออกของรถ ผู้ป่วย ผู้มาให้บริการ อย่างชัดเจน จะไม่มีการเดินสวนกันระหว่างคนไข้กับคนมาให้บริการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ มีการกำจัดเชื้อไม่ว่าจะเป็นน้ำทิ้ง หรือขยะต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของการกำจัดขยะที่มีเชื้อโรคตามมาตรฐาน โดยความร่วมมือของสถานพยาบาล และเทศบาลเมืองขอนแก่น
“โรงพยาบาลสนามมีความจำเป็นจริงๆ ในสภาวการณ์ขณะนี้ และมีความปลอดภัยกับทุกคน ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยจะมีบุคลากร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตลอดเวลา เพื่อควบคุมมาตรฐานต่างๆ ความปลอดภัยต่างๆ ให้กับผู้ป่วย บุคลากร และชุมชนที่อยู่รอบโรงพยาบาลสนามด้วย” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว