นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณาจารย์ ศิลปิน นักเรียนนักศึกษา ร่วมเปิดนิทรรศการ ผลงานสร้างสรรค์ประติมากรรม โฮมดิน ครั้งที่ 1 บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร. นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สังคมอีสาน เป็นสังคมเกษตร นอกจากการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหารและไว้ใช้แรงงานแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไว้ใช้ในครอบครัวด้วย ดังนั้น เวลาที่ว่างจากงานด้านเกษตรกรจึงเป็นเวลาที่ใช้ทำงานด้านหัตถกรรมด้วย ซึ่งการปั้นดินจึงได้จัดให้เรียนรู้ทั้งศิลปะและภูมิปัญญาไปพร้อมๆกัน
สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา ชุด โฮมดิน โดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นการเผยแพร่การเผยแพร่งานศิลปะได้มีอย่างหลากหลาย เข้าถึงง่าย สอดรับกับนโยบาย Green Campus ของมหาวิทยาลัยที่ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่ และสภาพแวดล้อม มุ่งเน้นปรับภูมิทัศน์ กิจกรรมสร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะให้หลากหลายมากขึ้น
กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่าง บุคลากร ศิลปิน ปราชญ์ท้องถิ่น และนักศึกษา เข้าศึกษาการทำภูมิปัญญา ผลงานที่มาจัดแสดงมาจาก คณาจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และ คณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาใน ภาคอีสาน เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน ศิลปินที่มีชื่อเสียงนระดับประเทศ อาทิ ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินร่วมสมัยด่านเกวียน ศิลปินอิสระ ซึ่งมีผลงานทั้งหมด 51 ชิ้นงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีการร่วมWORK SHOP ร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ด่านเกวียน จ.นครราชสีมาเป็นเวลา 5 วัน
“สำหรับงานประติมากรรมโฮมดิน เป็นการแสดงผลงานศิลปะนิพนธ์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีผลงานกว่า 50 ชิ้นงานที่นำมาติดตั้งรอบอาคารหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นการสนับสนุนวงการศิลปะ วงการการศึกษา การท่องเที่ยว ทางศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันมีค่าแก่การส่งเสริม สนับสนุนให้กำลังใจแก่นักศึกษา เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน”รศ.ดร. นิยม กล่าว