ความคืบหน้าในการชุมนุมทางการเมืองที่เห็นต่าง มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง มีเอกสารข่าวคดีสำคัญ เรื่องมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา (เยาวชน) 4 คน คดีอาญาหมายเลขดำที่ ตจ. 102/2564 และ ตจ.103/2564 หลังจากวันที่ 21 มี.ค.64 เวลา 11.00 น. พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องขอให้ ศาลตรวจสอบการจับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องหาคดี หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่มีการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่ง อย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงาน สั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดให้เลิกแล้วไม่เลิก ศาลได้ไต่สวนตามที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ร้องขอแล้วมีคำสั่งให้ควบคุมตัว เว้นแต่มีประกัน ต่อมาผู้ปกครองได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวออกไป คนละ 20,000 บาท
คอนเฟอเรนซ์ฝากขังอีก 16 ผตห.
ต่อมาเวลา 11.30 น. พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม พร้อม พงส.ยื่นคำร้องฝากขังกลุ่มผู้ต้องหาชาย 15 คน หญิง 1 คน ที่ร่วมกันชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 20 มี.ค. รวม 3 สำนวน คดีดำ ฝ.365-367/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (ตชด.ภ.1) จ.ปทุมธานี ใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยไม่ต้องนำตัวมาศาลเพื่อความปลอดภัย คำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค.64 ต่อเนื่องกันกลุ่มผู้ต้องหาโดยนายวัชรคุณ อุบออ กับพวก รวม 16 คน และบุคคลอื่นประมาณ 500 คน ร่วมกัน ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์แม่พระธรณีบีบมวยผม ข้างศาลฎีกา ใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีรัฐบาล
ทั้งหมดปฏิเสธ ตร.ค้านประกัน
คำร้องระบุต่อว่า เจ้าหน้าที่ประกาศผ่านเครื่อง ขยายเสียงให้เลิกการชุมนุม กลับถูกกลุ่มผู้ชุมนุมโห่ร้อง ขับไล่ และเคลื่อนขบวนเข้ามาบริเวณถนน ราชดำเนินใน เป็นสถานที่ตั้งสำคัญแล้วฉีดสีสเปรย์ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ตั้งขวาง ใช้เชือกดึงเพื่อเปิดทาง ปาสิ่งของ ประทัดยักษ์ ใช้หนังสติ๊ก ยิงลูกเหล็ก ลูกแก้ว ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ทำลายตู้ตำรวจจราจร รถตู้ตำรวจ และทรัพย์สินอื่นๆ เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้น้ำฉีดสกัด และติดตามจับกุมผู้ต้องหาดำเนินคดี ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ 12 วันตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-2 เม.ย. ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว
ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว
สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาทั้ง 16 คน มีนายวัชรคุณ อุบออ อายุ 39 ปี นายอุทัย จักขุรักษ์ อายุ 43 ปี นายสมเกียรติ รัตนาวิบูลย์ อายุ 41 ปี นายบุญล้อม จันทร์เพ็ง อายุ 45 ปี นางเกศศิรินทร์ วุฒิวงศ์ อายุ 55 ปี นายวิน หมื่นมณี อายุ 45 ปี นายถนอม ศิริสุภา อายุ 52 ปี นายธีระพงษ์ เงินถม อายุ 41 ปี นายศรีรัตน์ วิจิตร์จั่น อายุ 39 ปี นายธนพัฒน์ กาเพ็ง อายุ 18 ปีเศษ นายสมบัติ วรครุฑ อายุ 47 ปี นายปกรณ์ สืบศรี อายุ 45 ปี นายจิตรกร บุญฤทธิ์ อายุ 23 ปี นายสิทธิพร อิ่มสมบูรณ์ อายุ 35 ปี นายหัสชัย สุวรรณราช อายุ 56 ปี นายสายัญ บุตรดาขุย อายุ 40 ปี ศาลพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ต่อมาผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความเปิดเผยว่า ภายหลังศาลอาญาอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาการชุมนุมทั้ง 3 สำนวน รวม 16 คน แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์ คนละ 35,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ
จับแล้วจัสตินกระทำผิด ม.112
ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. มีรายงานว่า พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม นำกำลังจับกุมนายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือจัสติน เมืองไทย นักกิจกรรมสมุทรปราการ ตามหมายจับศาลอาญาเกี่ยวกับการทำความผิด คดีหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ขณะนี้กำลังถูกนำตัวไปยัง สน.ชนะสงคราม โดยพฤติการณ์ผู้ต้องหา ได้เอาสติกเกอร์เขียนข้อความไม่บังควรไปติดที่พระบรม ฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลฎีกา เมื่อค่ำวันที่ 20 มี.ค.
ไต่สวนอานนท์เขียน จ.ม. ขอชีวิต
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้อง คดีดำหมายเลขที่ อ.287/64 ของนายอานนท์ นำภา จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 กรณีเขียน จ.ม.ถึงศาลขอคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ บรรยากาศในระหว่างการควบคุมตัวกลุ่มแกนนำและแนวร่วมราษฎรมาศาล มีมาตรการตรวจอาวุธตรวจบัตรประชาชนผู้เดินทางเข้าออกศาลอาญา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ร่วมกับหน่วยคอร์ทมาแชล วางกำลังรอบบริเวณศาล แต่ไม่ปรากฏว่า มีแนวร่วมเข้ามาบริเวณศาลหรือนอกศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้ศาลได้เบิกตัวนายอานนท์ นำภา, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นพยานเบิกความ
บ่ายรองอธิบดีคุกแจงศาลยิบ
จากนั้นเวลา 13.30 น. ศาลได้เบิกตัว นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในฐานะผู้ควบคุมดูแลเหตุการณ์ ตามหนังสือคำสั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาไต่สวนได้เบิกความสรุปว่า ได้รับแจ้งด้วยวาจาว่าจะมีผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษธนบุรี มาคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในฐานะผู้ควบคุมดูแลได้แจ้งกำชับ ว่าเรือนจำพิเศษธนบุรีอยู่ใกล้กับตลาดบางแคเป็นพื้นที่เสี่ยง ผู้ต้องขังที่ย้ายมาจากเรือนจำดังกล่าวเข้าข่ายที่จะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะต้องแยกกักขังตรวจโรคในสถานพยาบาลชั้น 2 โดยกลุ่มเสี่ยงจะแบ่งแยกออกเป็นสองประเภทคือ 1.กลุ่มที่มีไข้ 2.กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและใกล้เคียง โดยสั่งการไปยังผู้อำนวยการส่วนสวัสดิการฯโดยกำชับว่าอย่าลืมจัดพื้นที่ตามนโยบายกักกันโควิด แต่ได้รับการปฏิเสธจากกลุ่มผู้ร้องผู้ต้องขัง 7 คน ที่ยืนกรานว่าจะอยู่ด้วยกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยให้มีการยุติการปฏิบัติหน้าที่และมีการกำชับห้ามไม่ให้ใช้กำลังจนเสร็จสิ้นภารกิจเวลาประมาณ 02.00 น.เศษ มีการถอนกำลังออกไป
นัดฟังคำสั่งบ่าย 29 มี.ค.
ภายหลังรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้เบิกความเสร็จสิ้น ศาลได้เปิดคลิปวิดีโอซึ่งถูกส่งมาเป็นวัตถุพยานต่อหน้านายอานนท์ และผู้ได้รับอนุญาตเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ในคลิปวิดีโอมีการถ่ายทอดภาพและเสียงในห้องควบคุมในเรือนจำซึ่งเห็นกลุ่มจำเลยดังกล่าว ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนศาลนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค.ช่วงบ่าย
ไต่สวนคดีกวิ้นละเมิดศาล
ต่อมาเวลา 14.00 น. ศาลอาญา รัชดาภิเษก ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา หรือ ผอ.ศาลอาญา กล่าวหานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยคดี ม.112 และความผิดฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีวันที่ 15 มี.ค.64 เวลาที่ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุมที่ท้องสนามหลวงวันที่ 19-20 ก.ย.63 และอัยการขอให้รวมสำนวนคดี ปรากฏว่า มีรายงานว่านายพริษฐ์ปฏิบัติตัวไม่เรียบร้อย โต้ตอบผู้พิพากษาในขณะปฏิบัติหน้าที่ ขออ่านแถลงการณ์ แม้ถูกคัดค้านก็ไม่ยอมฟัง ยังยืนยันอ่านแถลงการณ์โดยลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ เกิดเหตุวุ่นวายมีคนขว้างขวดน้ำลงพื้น ศาลได้อ่านข้อกล่าวหาของ ผอ.ศาล ให้นายพริษฐ์ฟังจนเป็นที่เข้าใจ ประกอบกับมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุ ได้สอบถามนายพริษฐ์จะให้การว่าอย่างไร นายพริษฐ์ได้ขอเวลาระบายความอึดอัดใจไปพร้อมกับการแถลง ศาลอนุญาตให้นายพริษฐ์แถลงได้ภายในเวลา 5 นาที
กวิ้นนั่งรถเข็นแม่ผวากอด
มีรายงานว่า วันนี้นายพริษฐ์มาศาลด้วยการนั่งรถเข็นวีลแชร์ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3-4 นาย พามาศาล มีทีมพยาบาลจาก รพ.ราชทัณฑ์ 2 คน คอยดูแลอาการจากการที่ประท้วงเนื่องจากอดอาหารมาหลายวันแล้ว โดยนายพริษฐ์มีสีหน้าท่าทางอ่อนเพลีย ต้องคอยดมยาดมเป็นระยะ โดยมีพ่อแม่มาคอยให้กำลังใจในการไต่สวน ถึงกับผวาเข้ากอดกัน ศาลได้ไต่สวนนายเพนกวิน ซึ่งได้อธิบายถึงเหตุผลที่ได้ยืนอ่านแถลงการณ์ แต่ศาลแจ้งว่าไม่ตรงประเด็นขอให้พูดกลับมาในประเด็น นายเพนกวินแถลงสักพักก็จบ ศาลให้นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความตอบคำถามต่อ ระหว่างการไต่สวนได้เปิดวิดีโอจากภาพวงจรปิดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย จากนั้นศาลจบการไต่สวน
คุก 1 ด. เปลี่ยนเป็นกักขัง 15 วัน
ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลอ่านคำสั่ง พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล และประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 180 มีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษาอบรม สภาพความผิดและความรู้สำนึกในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประกอบกับโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน และไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน นับแต่วันนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 23 จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายพริษฐ์กลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯต่อไป
16 แกนนำราษฎรพบ ตร.ขอนแก่น
ที่ สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อเวลา 10.00 น.วันเดียวกัน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้ออกหมายเรียกให้แกนนำคณะราษฎรทั้ง 16 คน เข้ารายงานตัวตามฐานความผิดใน 3 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วยความผิด พ.ร.บ.ธงชาติไทย จากการชุมนุมและปลดธงชาติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ.64 รวมทั้งการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ.64 และที่หน้า สภ.ย่อยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค.64 ท่ามกลางมวลชนแห่ให้กำลังใจเพียบ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน 4 กองร้อยวางกำลังโดยรอบ สภ. และนำรั้วลวดหนาม แผงเหล็กมากั้น ตรวจสอบการเข้าออกของผู้ที่จะเข้าออก กำหนดให้เฉพาะกลุ่มผู้ต้องหา 16 คน และทนายความเข้าไปในโรงพักเท่านั้น ท่ามกลางความไม่พอใจของมวลชน เรียกร้องให้เร่งปล่อยตัว พร้อมทั้งนำสเปรย์มาฉีดพ่นลงพื้นถนนและโล่กำบังของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน
ปฏิเสธทุกข้อหาอ้างชุมนุมตามสิทธิ
ขณะที่นายวชิรวิชญ์ เทศศรีเมือง หรือเซฟ แกนนำคณะราษฎรขอนแก่น พร้อมผู้ที่ถูกออกหมายเรียกอีก 15 คน ประกอบด้วย 1.นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ 2.นายชัยธวัช นามมะเริง 3.นายนิติกร ค้ำชู 4.นายกรชนก แสนประเสริฐ 5.นายพชร สารธิยากุล 6.นายธนศักดิ์ โพธิเตมีย์ 7.นายวีรภัทร ศิริสุนทร 8.นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ 9.นายศรายุทธ นาคมณี 10.น.ส.จตุพร แซ่อึง 11.นายเชษฐา กลิ่นดี 12.นายศิวกร นามนวด 13.นายเจตน์สฤษดิ์ นามโคตร 14.นายอิศเรษฐ์ เจริญคง 15น.ส.วิศัลยา งามนา โดยนายวชิรวิชญ์กล่าวว่า ได้รับหมายเรียกรวม 3 หมาย ทุกคนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เพราะเราชุมนุมกันตามสิทธิและหน้าที่ ตำรวจเล่นใหญ่เกินเบอร์ จัดกำลังตำรวจนับร้อย วางกำลังเข้มงวดทั้งที่เรามารายงานตัวตามหมายเรียก
สาวบางปูรับข้อหา ม.112
ส่วนที่ สภ.บางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อเวลา 09.40 น. น.ส.สุพรรษา เจือเพ็ชร อายุ 33 ปี นักกิจกรรมทางการเมือง เข้าพบ พ.ต.อ.พิสุทธิ์ จันทรสุวรรณ ผกก.สภ.บางปู เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีมาตรา 112 กรณีนำป้ายในลักษณะหมิ่นสถาบัน ไปปิดทับพระบรมฉายาลักษณ์ และแขวนบนสะพานลอยหน้าสถานตากอากาศบางปู ถนนสุขุมวิท ต.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการ เมื่อคืนวันที่ 5 ม.ค.64 พ.ต.อ.พิสุทธิ์ จันทรสุวรรณ ผกก.สภ.บางปู กล่าวว่า เบื้องต้น น.ส.สุพรรษาให้การปฏิเสธ บอกว่าจะให้รายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน จากนั้นได้ส่งตัว น.ส.สุพรรษาไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขออำนาจศาลขอหมายขัง ไปควบคุมต่อที่เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการต่อไป
ตร.เสียใจนักข่าวโดนกระสุนยาง
ส่วนความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเวลา 12.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมกันแถลงข่าวกรณีเหตุชุมนุมและมีนักข่าวได้รับบาดเจ็บ โดย พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า เหตุชุมนุมที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่สนามหลวง เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเตือนแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมได้รื้อสิ่งกีดกั้น ทำลายกล้องวงจรปิด ทำร้ายเจ้าหน้าที่ รื้อถอนตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ระเบิดเพลิง ไปป์บอมบ์ปาใส่เจ้าหน้าที่ กระทั่งเวลา 19.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุม ได้รื้อถอนตู้คอนเทนเนอร์อีก ขณะเดียวกันๆได้ปาระเบิดเพลิง ไปป์บอมบ์ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนอีกครั้ง จากเหตุการณ์ครั้งนั้นจับกุมผู้ร่วมชุมนุมได้ 20 คน มีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และได้ส่งศาลเรียบร้อยแล้ว การชุมนุมครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 50 นาย มีอยู่รายหนึ่งกระโหลกศีรษะแตก อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางและพลาดไปโดน นักข่าวช่อง 8 ขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้ด้วย
ร.10 ทรงรับคนเจ็บไว้ในความดูแล
ด้านพ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนตามขั้นตอนและสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักข่าว เรามีการแจ้งเตือนอยู่แล้ว ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ควรมีเครื่องป้องกันตัวเองในกรณีที่มีการชุมนุม รับว่ามีการผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ส่วนมีชายคนหนึ่งถืออาวุธ ขณะเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการติดตามตัว ส่วนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ผบ.ตร. ได้สั่งให้ทบทวนการฝึกให้เข้มงวดมากขึ้น อยากฝากให้สื่อมวลชนปฏิบัติตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย สำหรับผู้บาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับผู้สื่อข่าวและประชาชนที่โดนลูกหลง ให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว