พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ต่ำกว่าร้อยคนอีกครั้ง คลัสเตอร์ตลาดปทุมธานีเพิ่มอีก 25 ราย ผงะ! คนขับรถปรับอากาศสาย 39 ติดเชื้อ ขณะที่ กทม.เตรียมฉีดวัคซีนพื้นที่กลุ่มแรก เขตติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตหนองแขม เขตจอมทอง เขตบางแค และเขตภาษีเจริญ
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 82 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากการเฝ้าระวังและระบบบริการ 27 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 44 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกัน 11 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 25,323 ราย หายป่วย 24,129 ราย รักษาในโรงพยาบาล 1,111 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้เสียชีวิตสะสม 83 ราย
ในส่วนของพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้จากคลัสเตอร์ตลาดในพื้นที่ ล่าสุดวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 25 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 484 ราย ขณะที่ กทม.เพิ่มขึ้น 6 ราย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวม 111,234,365 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,462,703 ราย
ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเปิดเผยว่า พบพนักงานขับรถโดยสารรถปรับอากาศ สาย 39 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารช่วงกะบ่าย) ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเปรมปรีด์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ขณะนี้ ขสมก.ได้ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคบนรถโดยสารคันที่พนักงานผู้ติดเชื้อปฏิบัติหน้าที่ และให้พนักงานเก็บค่าโดยสารที่ปฏิบัติหน้าที่บนรถคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อหยุดงานเพื่อไปพบแพทย์ทันที
โดยเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564 เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้นำรถพระราชทานเข้ามาตรวจเชิงรุกเพื่อหาเชื้อ ชุดที่ 2 ให้กับพนักงานจำนวน 600 คน ที่อู่รังสิต เขตการเดินรถที่ 1 จากนั้นในวันที่ 20 ก.พ. สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีได้แจ้งให้ทราบว่ามีพนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 39 มีผลเป็นบวก 1 คน จึงให้พนักงานรออยู่ที่บ้าน และจัดส่งรถพยาบาลนำไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น และนายพันธ์เทพ เสาโกศล ปลัดจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวยืนยันพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายที่ 13 หลังผลการตรวจยืนยันติดเชื้อเมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 19 ก.พ. โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเด็กชายอายุ 10 ขวบ เรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเขต อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการเดินทางกลับมาจาก จ.ปทุมธานี ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาแล้วที่ รพ.ชุมแพ และทีมสอบสวนโรครวมทั้งทีมแพทย์ได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและตรวจสอบไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายดังกล่าวตามขั้นตอนอย่างเข้มงวดแล้ว
“ผู้ป่วยรายดังกล่าวเดินทางไปร่วมงานตรุษจีนกับครอบครัวที่ ปทุมธานี โดยเดินทางไปกับคุณพ่อในช่วงระหว่างวันที่ 10-12 กุมภา. และเดินทางกลับมาที่ขอนแก่นในวันที่ 12 กุมภา.” นายสมศักดิ์กล่าว
ขณะที่ นพ.สมชายโชติกล่าวว่า ครอบครัวของผู้ป่วยมีทั้งหมด 8 คน โดย 2 คนคือคุณพ่อและตัวผู้ป่วยเดินทางไปที่ จ.ปทุมธานี และยืนยันพบการติดเชื้อโดยที่คุณพ่อนั้นเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อของ จ.ปทุมธานี ส่วนของลูกชายวัย 10 ขวบที่ตรวจพบการติดเชื้อเมื่อช่วงกลางดึกของคืนที่ผ่านมานั้น เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อของ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ดังนั้นขณะนี้การตรวจสอบคนในครอบครัวของผู้ป่วย 6 คนที่อยู่ที่ขอนแก่น อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการอย่างเข้มงวด รวมทั้งการตรวจสอบไทม์ไลน์ของผู้ป่วยว่าไปที่ใด หรือสัมผัสกลุ่มเสี่ยงใดบ้าง เพื่อให้การตรวจคัดกรองต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ
เพจเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์ข้อความระบุว่า กทม.เตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 พื้นที่กลุ่มแรก เขตติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตหนองแขม เขตจอมทอง เขตบางแค และเขตภาษีเจริญ ทั้งนี้ อาจปรับตามสถานการณ์ และจำนวนผู้ติดเชื้อที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ว่า จะมีการพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะว่า พ.ร.ก.ที่ประกาศไว้จะหมดอายุแล้ว ประกอบกับเกิดกรณีการติดเชื้อที่ จ.ปทุมธานี ดังนั้น ศบค.วงเล็กจะต้องเสนอเข้ามา แต่มีโอกาสที่จะผ่อนผัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการประชุม ศบค.วันจันทร์ที่ 22 ก.พ.ในช่วงบ่าย จากนั้นวันอังคารที่ 23 ก.พ. จะนำเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ก็ยังต้องดูกันอีกที
เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินบางพื้นที่แทนการประกาศครอบคลุมทั้งประเทศ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องรอให้ ศบค.ชุดเล็กเสนอมาก่อน แต่ต้องเข้าใจตรงกันว่าไม่มีใครได้เบี้ยทวีคูณ ในกฎหมายเขียนไว้ว่า หากมีการประกาศกฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน มีโอกาสจะได้เบี้ยทวีคูณ แต่ต้องให้ ครม.มีมติ ซึ่งทาง ครม.ไม่มีมติในเรื่องนี้
ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีผลในการปรามอยู่ เพราะยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีการระบาดอยู่ จะเจาะจงลงไปไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ตำบลไหน ดังนั้นจึงต้องมีการประกาศคุมไว้ แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปเจาะจงพื้นที่อีกทีหนึ่ง แต่ต้องบอกว่าการประกาศคุมแบบนี้ไม่ใช่การล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่ประกาศเพื่อโยนอำนาจนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่อย่างนั้นผู้ว่าฯ ก็จะสั่งอะไรไม่ได้เลย เพราะตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ผู้ว่าฯ มีอำนาจเพียงเล็กน้อย
เมื่อถามว่า แผนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะสอดคล้องกับแผนวัคซีนที่กำลังจะมาด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เกี่ยวข้องกัน เพราะวัคซีนจะมาในสัปดาห์หน้า ก็ต้องมีมาตรการควบคู่กัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดลุกลาม แล้วจะกลายเป็นว่าวัคซีนไม่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นต้องควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าวัคซีนคือหน้ากากและการเว้นระยะห่าง วัคซีนแค่มีส่วนเข้ามาช่วย
“กลัวที่สุดเลยคือคนที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ระมัดระวัง เพราะอย่าลืมว่าต่อให้ฉีดไปแล้วก็ยังไม่ได้ฉีดเข็มที่สอง และอานุภาพของมันก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นต้องเร่งควบคุมทั้งสองอย่างควบคู่กันไป” รองนายกฯ กล่าว.