ประเด็นเด็ด 7 สี – ในภาคอีสานยังคงมีชาวบ้านรวมกลุ่มจักสานอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็ส่งขาย จากนั้นมีครูอาสา มาช่วยออกแบบและสอนให้ชาวบ้านพัฒนาเครื่องจักสานให้มีรูปทรงแปลกตา และทันสมัย กลายเป็นงานคราฟน์ จนมีมูลค่าสูงขึ้น เป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก ติดตามรายงานนี้จากคุณชนะชัย แก้วผาง
กว่า 10 ปีแล้วที่ศิลปินอิสระอย่าง นพมาศ คดอุย ผันตัวเองจากอาจารย์สอนพิเศษด้านการออกแบบ มาเป็นครูอาสาให้ชาวบ้านได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นดั่งเดิม พัฒนาเป็นงานฝีมือทันสมัยแปลกตาสู่สายตาโลก โดยเฉพาะงานจักสานไม้ไผ่
ในตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีผู้สูงอายุรวมกลุ่มจักสานไม้ไผ่ เป็นเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน แต่ละคนต่างมีฝีมือจักสานสืบทอดมาจากคนรุ่นหลัง กระทั่ง ครูนพมาศ ฝึกให้ชาวบ้านออกแบบรูปทรงที่ทันสมัยและแปลกตา กลายเป็นงานคราฟต์มูลค่าสูงขึ้น ไม่ว่าจะดัดแปลงเป็นหมวก เก้าอี้ และอีกมากมาย
ลานสภาวัฒนธรรมขัวเรียงแห่งนี้ จึงกลายเป็นแหล่งผลิตงานฝีมือจักสานของชาวบ้าน แน่นอนว่าเมื่อรูปทรง ถูกออกแบบให้ดูแปลกตาทันสมัย ก็ยิ่งมีคนสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นจนผลิตไม่ทัน
ฝีมือจักสานจากชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ กำลังจะถูกนำไปโชว์แสดงในงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ isan creative festival ที่ ทีซีดีซี และย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์-กังสดาล ในเมืองขอนแก่น 25 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคมนี้ และถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนงานจักสานธรรมดา ๆ สู่สายตาโลกก็ว่าได้