วันที่ 23 เม.ย 64 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่นเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานยืนยันตัวเลขพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของจังหวัดเพิ่มขึ้นในวันนี้อีก 29 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 287 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายแล้วและแพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้ 13 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมที่ยังคงรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 274 ราย ดังนั้นที่ประชุมวันนี้ได้มีมติในการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคารเอนกประสงค์พุทธมณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น จำนวน 240 เตียง ซึ่งขณะนี้เหลือรายละเอียดปลีกย่อยตามระเบียบของคณะทำงานและการตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายตามาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข โดยคาดว่าโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 นี้นั้นจะสามารถเปิดใช้งานได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 นี้นั้นจะมีโรงพยาบาลสิรินธร อ.บ้านแฮด เป็นแม่ข่ายหลักของการดำเนินงาน
สำหรับการจัดพื้นที่กักตัว 14 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจประเมินจากโรงพยาบาลแม่ข่ายมาแล้ว 7 วันและพร้อมที่จะชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง หรือ Hospitel มติที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติให้โรงพยาบาลเอกชนทั้ง 3 แห่งของจังหวัด ประกอบด้วย รพ.ขอนแก่น ราม,รพ.ราชพฤกษ์ และ รพ.กรุงเทพขอนแก่น ได้ดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขทันที ซึ่งขณะนี้ทราบมาว่าเหลือเพียงขั้นตอนเอกสารทางราชการอีกไม่มาก การเปิด Hospitel ของขอนแก่นก็สามารถดำเนินการได้ ขณะที่ รพ.ค่ายศรีพัชรินทร์ มทบ.23 ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ากองทัพบก ได้มีคำสั่งให้ รพ.ค่ายศรีพัชรินทร์ นั้นดำเนินการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นกำลังพลและครอบครัวในการกำกับดูแล ซึ่งสามารถรองรับได้ 19 เตียง ที่ประชุมได้มีมติในการดำเนินงานตามที่กองทัพบกระบุแต่ขอให้ส่งเรื่องแจ้งมายังคณะกรรมการฯได้รับทราบ ขณะเดียวกันในวันที่ 1 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ค่ายทหารทั้ง 4 ค่ายที่ตั้งอยู่ในเขตขอนแก่น จะรับกำลังทหารกองประจำการผลัดใหม่ จำนวน 683 นาย ซึ่งทุกนายจะต้องกักตัว 14 วันตามระเบียบอย่างเข้มงวด”
ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เร่งจัดทำสถานที่กักกันตัว 14 วัน สำหรับคนกลุ่มเสี่ยง โดยสถานที่ดังกล่าวจะเป็นสถานที่กักกันตัวส่วนกลาง ประจำตำบล ด้วยงบของท้องถิ่น ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดและใช้อำนาจในการนำคนกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัส ใกล้ชิดหรือเดินทางมาจากจังหวัดสีแดงได้เข้ารับการตรวจคัดกรองและกักตัว 14 วันในสถานที่ที่ท้องถิ่นจัดไว้ทันที ซึ่งท้องถิ่นจะต้องทำงานร่วมกับ สาธารณสุขอำเภอ ฝ่ายปกครอง และ อสม. รวมทั้งตำรวจ ในการคุมเข้มตั้งแต่ต้นทางเพื่อการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกันกับประกาศปิดหมู่บ้านเสี่ยงหรือล็อคดาวน์ที่จังหวัดได้มอบอำนาจให้ทางอำเภอเป็นผู้พิจารณาปิดหมู่บ้านตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากสถานที่เกิดขึ้นนี้อย่างเข้มงวดอีกด้วย
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่