สคร.7 แนะอากาศเย็นลง ระวังกลุ่มเสี่ยงป่วยได้ง่าย หมั่นสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาพดีรับลมหนาว
ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของกรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยด้วยโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวมากขึ้น อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ประกอบกับเชื้อก่อโรคหลายชนิดจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น โรคที่มักเกิดขึ้นบ่อยในฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น แนะนำให้ประชาชนเร่งสร้างเสริมสุขภาพที่ดี เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มักจะมาพร้อมฤดูหนาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง โดยการรับประทานอาหารให้ครบ ๕ หมู่ อาหารต้องปรุงให้สุก รับประทานขณะที่สะอาดปรุงด้วยความร้อน ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่บ่อยครั้ง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยครั้งละ ๓๐ นาที สัปดาห์ละ ๓-๕ วัน พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ไม่ควรก่อไฟผิง เพราะควันจากการก่อไฟจะระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จากความเชื่อที่ผิดๆว่าแอลกอฮอล์จะสามารถแก้หนาวได้ เพราะนอกจากจะไม่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายแล้วฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน และกดประสาททำให้ง่วงซึมและหมดสติโดยไม่รู้สึกตัว หากมีโรคประจำตัวจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
นายแพทย์สมาน ฟูตระกลู ได้กล่าวถึงประกาศกรมควบคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยพ.ศ.2564 โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1)โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ) 2) โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ(โรคอุจจาระร่วง) 3) โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด) 4) ภัยสุขภาพ จากการขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย และการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ได้แก่ อันตรายจากการดื่มสุราแก้หนาว อันตรายจากการท่องเที่ยวในฤดูหนาว ที่ผ่านมาเคยมีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือการดื่มสุราและสวมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวไม่เพียงพอ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก รวมทั้งคนพิการและผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เป็นต้น พร้อมกับแนะนำประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและรักษาอบอุ่นให้ร่างกายอยู่เสมอ สวมใส่เสื้อผ้ากันหนาวหนาๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวและพักในเต็นท์ ควรเตรียมเครื่องนุ่งห่มเครื่องกันหนาวให้เพียงพอ และจุดที่จะต้องให้ความอบอุ่นเป็นพิเศษ คือ ศีรษะ คอ และหน้าอก เนื่องจากมีเส้นเลือดใหญ่อยู่ใกล้ผิวหนังและไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ หากอวัยวะขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงก็จะเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้การท่องเที่ยวบนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติก็ต้องระมัดระวังมิให้ถูกไรอ่อนกัดเพราะจะทำให้เกิดโรคสครับไทฟัส หรือโรคไข้รากสาด ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ อาศัยอยู่ตามกอไม้กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆนูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดและทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรทากันยุง ซึ่งจะสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้เช่นกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
/////////////////////////////////
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่7 จ.ขอนแก่น
หมายเลข 043 222818-9 ต่อ 237
https://ddc.moph.go.th/odpc7/
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ [email protected]