วันอาทิตย์ ที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 18.06 น.
ฝ่ายดิจิทัลมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโครงการ KKU Smart City ทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (สสจ.) ในการนำข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ป่วยโควิด 19 จังหวัดขอนแก่น มาวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูล และนำเสนอออกมาในรูปแบบแผนที่ เพื่อจะแสดงพื้นที่ที่ผู้ป่วยเคยไปในระยะเวลา 7-28 วันที่ผ่านมา เราอยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมั่นใจในการชีวิตช่วงภาวะวิกฤติโควิดมากขึ้น
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่ ห้องประชุมอธิการบดี อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ในเรื่องการจัดทำ “แผนที่ข้อมูลไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด 19 จังหวัดขอนแก่น” โดยมีคณะผู้จัดทำและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ รศ.รวี หาญเผชิญ นักวิจัยโครงการ KKU Smart City ศ.วนิดา แก่นอากาศ นักวิจัยโครงการ KKU Smart City 3,ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะร่วมให้รายละเอียดแก่ผู้สื่อข่าว
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบที่ 1 โรงพยาบาลศรีนครินทร์และศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนึ่งในสองโรงพยาบาลหลักของจังหวัดขอนแก่นที่มีความพร้อมในการให้บริการตรวจคัดกรอง รักษา และส่งต่อผู้ป่วย ตลอดจนการจัดตั้งรพ.สนามแห่งแรกของจ.ขอนแก่นเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในรูปแบบที่ 2 นั้น เนื่องด้วยนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากกว่า 6 หมื่นคน จึงได้ออกประกาศและมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ในพื้นที่มหาวิทยาลัย
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวด้วยว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดตั้งโครงการ KKU Smart City ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ (Khonkaen Smart City) ตามยุทธศาสตร์หลักของจังหวัดขอนแก่น โดยมีศูนย์ปฏิบัติการสมาร์ทซิตี้ (Smart City Operational Centre : SCOPC) ตั้งอยู่พื้นที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) เพื่อเป็น Data Center แหล่งรวมข้อมูลของจังหวัดขอนแก่นทั้งหมด ภารกิจสำคัญคือการสร้างเทคโนโลยีที่มาช่วยอำนวยความสะดวก ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองหลากหลายด้าน
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า ฝ่ายดิจิทัลมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโครงการ KKU Smart City ทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (สสจ.) ในการนำข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ป่วยโควิด 19 จังหวัดขอนแก่น มาวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูล และนำเสนอออกมาในรูปแบบแผนที่ เพื่อจะแสดงพื้นที่ที่ผู้ป่วยเคยไปในระยะเวลา 7 – 28 วันที่ผ่านมา เราอยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมั่นใจในการชีวิตช่วงภาวะวิกฤติโควิดมากขึ้น
รศ.รวี หาญเผชิญ นักวิจัยโครงการ KKU Smart City กล่าวถึงการทำงานของแผนที่ไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ในเว็บไซต์ ที่ทีมนักวิจัยจัดทำขึ้นแสดงข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งของโรงพยาบาล ไทม์ไลน์ผู้ป่วยในจังหวัดขอนแก่นช่วง 7 – 28 วัน รวมทั้งสถานที่ที่มีมาตรการป้องกันและผ่านเกณฑ์อนามัย โดยมีการอัปเดตข้อมูลทุกวัน นอกจากนี้ เรายังได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสดงสถิติของเพศ ช่วงอายุ และความเชื่อมโยงของเคสผู้ป่วย ทำให้เห็นสถานที่ที่อาจจะเป็นคลัสเตอร์ และช่วยให้ทีมแพทย์สะดวกต่อการสอบสวนโรค
ศ.วนิดา แก่นอากาศ นักวิจัยโครงการ KKU Smart City กล่าวเพิ่มว่า “ศูนย์ปฏิบัติการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (SCOPC) เรามีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเครื่องมือและนักวิจัยที่พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนผ่านกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ โดยการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยด้าน Digital Skill มาสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประจักษ์พยานจากผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดรอบแรก
โดยแผนที่ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยในครั้งนี้ จะช่วยให้ภาครัฐได้วางแผนเตรียมพร้อมและบริหารจัดการสถานพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่และผู้ที่จะกลับมาพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในขณะนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้นำแพลตฟอร์มไปทดลองใช้ และจังหวัดอื่นที่สนใจก็สามารถกรอกข้อมูลผ่าน Google Form ทีมงานก็จะอัปเดตข้อมูล และแสดงผลบนแผนที่เว็บไซต์ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดอยู่ภายใต้นโยบายKKU Transfomation โดยการบริหารของรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีฯ เพื่อมุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์ความรู้ และมหาวิทยาลัยอุทิศเพื่อสังคม.